เกษตรกรมีเงิน ศก.ประเทศไปได้

รมต.ประจำสำนักนายกฯ พร้อมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท ที่อำเภอสรรพยา เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก โดยร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน เข้าไปส่งเสริมใน 4 ชุมชน กระตุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวให้ได้ 15,000 คนต่อปี ที่สำคัญต้องทำให้เกษตรกรมีเงิน มีกำลังซื้อให้ได้ก่อน เศรษฐกิจในภาพรวมจึงจะเกิดการขับเคลื่อน



นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังจากการเป็นประธานเปิดโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฐานรากด้วยกลไกและเครื่องมือการพัฒนาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่จำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งอันจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับคุณภาพสังคม คุณภาพชีวิต และส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ

  

ดังนั้นจึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐเร่งหาแนวทางและการบูรณาการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว จึงเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนปณิธานของนายกรัฐมนตรีให้เป็นรูปธรรม โดยได้ผนึกความร่วมมือระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) และชุมชนเมือง เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในชุมชนให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จากการพัฒนาอาชีพให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น   
       
“ถ้าพี่น้องเกษตรกรมีเงินเมื่อไร ทุกตลาดในประเทศไทยขายของได้ ธุรกิจภายในประเทศเกิดความคึกคัก เพราะสิ่งที่เราจะทำคือ เศรษฐกิจชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน แต่จะต้องให้เกิดกำลังซื้อขึ้นมาให้ได้จากภาคเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด ปศุสัตว์ ประมง) ที่สำคัญภาคเกษตร ไม่ใช่หมายถึงแค่เกษตรกร แต่รวมถึงคนในตลาด เพราะสองส่วนนี้เชื่อมโยงกัน คนในตลาดพึ่งพาเม็ดเงินจากภาคเกษตร ภาคเกษตรก็พึ่งพาสินค้าจากตลาด โรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องพึ่งพากำลังซื้อจากตลาด เมื่อตลาดขายของได้ก็สั่งของจากโรงงานเพิ่ม ดังนั้นกำลังซื้อหลัก มันคือเงินจากดินของเกษตรกรทั้งประเทศ” นายอนุชา กล่าว

สิ่งที่จะทำได้ตอนนี้ให้กับภาคเกษตรคือ เพิ่มกำลังซื้อ และพักชำระหนี้ เพื่อให้เม็ดเงินมาสู่ตลาด ให้ตลาดสามารถขายของได้ โรงงานขายของได้ แต่ถ้าไปมุ่งแต่ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเดียว ก็ไปไม่รอด เพราะขาดกำลังซื้อจากคนทั้งประเทศที่เป็นเกษตรกร และถ้าเกษตรกรมีเงินในมือมากพอเมื่อไร ก็พร้อมที่จะพัฒนาไปสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ ถึงตรงนั้นก็มีโอกาสทำได้มากขึ้น



ด้านนายณัฐพล รังสิตพลอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการหาแนวทางการส่งเสริมและยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ดังนั้น กรมฯ จึงได้จัดทำโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญการส่งเสริมชุมชนให้มีความพร้อม และเสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งใช้ประสบการณ์การดำเนินงานจากโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือหมู่บ้าน CIV ที่ดำเนินการมากว่า 230 แห่งทั่วประเทศ ตกผลึกเป็นองค์ความรู้พิเศษเพื่อยกระดับศักยภาพให้กับวิสาหกิจชุมชนในพื้นเป้าหมายให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองหรือ Identity โดยอาศัยองค์ประกอบจากวัตถุดิบในชุมชนนั้น ๆ เชื่อมโยงเรื่องราววิถีชุมชนเพื่อเป็นจุดขาย

  
(บรรยากาศที่น่าเดินภายในตลาดสรรพยา)

เบื้องต้น กสอ. บูรณาการความร่วมมือกับทาง กทบ. โดยเข้าไปถ่ายทอดความรู้การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดให้กับชุมชนและกลุ่มสมาชิกลูกค้าของทาง กทบ.ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาอาชีพของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center 4.0 :ITC 4.0) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center: Thai -IDC) ที่จะเปิดฝึกอบรมในหลักสูตรการพัฒนานักออกแบบชุมชน หลักสูตรการทำผ้ามัดย้อม และหลักสูตรการเขียนเทียน กลุ่มสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ OTOP โดยนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 4 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนสรรพยา 2.ชุมชนมโนรมย์ 3.ชุมชนลาวเวียงบ้านเนินขาม และ 4.ชุมชนสรรค์บุรี เนื่องจากแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน และมีศักยภาพที่พร้อมนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และทั้ง 4 ชุมชน ยังถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่แล้ว 

ดังนั้น การเข้ามาพัฒนาองค์ประกอบของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะเป็นจุดขายเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง และคาดว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 คนต่อปี หลังจากที่การท่องเที่ยวเกิดการชะลอตัวช่วงที่มีโควิด-19   ระบาด         
“กสอ. พร้อมให้การสนับสนุนอย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นรูปธรรมทั้งในด้านเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการให้บริการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน ฯลฯ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มOTOP ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ประมาณ 600 คน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก” อธิบดี กสอ. กล่าวทิ้งท้าย     
      
  

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า กทบ. และ กสอ. ถือเป็นพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการยกระดับชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือในส่งเสริมและสนับสนุนทายาทผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มีความพร้อมในการรับช่วงต่อเพื่อพัฒนากิจการมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต เสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน และในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ กทบ. และ กสอ. ร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 

ทาง กสอ.จะเข้ามาต่อยอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม OTOP ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ได้รับความสนใจจากชุมชนในพื้นที่จำนวนมาก แม้ว่าปัจจุบันสมาชิกจะมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่าย อยู่แล้ว แต่ยังต้องการให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้ ส่งผลให้สมาชิกของ กทบ. เข้าถึงองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น  


  ธ.ค. 63
 
เว็บสำเร็จรูป
×