ผลักดันหัตถอุตสาหกรรมสู่เม็ดเงิน 100 ล้าน

ผลักดันหัตถอุตสาหกรรมสู่เม็ดเงิน 100 ล้าน

กสอ. ร่วมกับภาคเอกชน จัดทำกิจกรรมพัฒนาภาพลักษณ์แบรนด์และผลิตภัณฑ์สู่“Fashion Hero Brand สาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย” โดยมุ่งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการและนักออกแบบไทยในอุตสาหกรรมแฟชั่น ครอบคลุมสาขาผ้าพื้นเมือง งานปัก เครื่องหนัง เซรามิค เพื่อแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งจากข้อมูลปี 2564 อุตฯ แฟชั่น ได้ส่งออกสินค้าเป็นมูลค่ามากถึง 2.0 แสนล้านบาท และจ้างงานราว 7.5 แสนคน  


นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งในด้านมูลค่าและการจ้างงาน โดยธุรกิจในอุตสาหกรรมสามารถสร้างรายได้ราว 3.9 แสนล้านบาท การส่งออกสินค้าแฟชั่น มีมูลค่ากว่า 2.0 แสนล้านบาท และการจ้างงานราว 7.5 แสนคนในปี 2564

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงร่วมกับภาคเอกชนภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น จัดทำ “กิจกรรมการพัฒนาภาพลักษณ์แบรนด์และผลิตภัณฑ์สู่ Fashion Hero Brand สาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย” ภายใต้โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล (Fashion Identity) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่น สาขาหัตถอุตสาหกรรมไทยให้มีองค์ความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการสร้างภาพลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับสู่การเป็นแบรนด์ระดับสากล การเสริมสร้าง ภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นที่มีรากฐานมาจากทุนทางวัฒนธรรมของไทยให้มีความเป็นสากล ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแฟชั่นในปัจจุบัน และขยายโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่น

  

กิจกรรมดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย ครอบคลุมสาขางานผ้าพื้นเมือง งานปัก เครื่องหนัง เซรามิก เครื่องจักสาน และอื่นๆ มุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการออกแบบร่วมสมัย จำนวน 25 กิจการ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศ และระดับสากล พร้อมทั้งสร้างเรื่องราวแบรนด์ (Storytelling) และอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ไทย ผ่านการฝึกอบรมเชิงลึกทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต การศึกษาดูงาน และการใช้กลยุทธ์การตลาด การสื่อสารนำไปสู่การเพิ่มยอดขายสินค้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อยอดงาน หัตถอุตสาหกรรมร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย สร้างให้โอกาสโตไกล และเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก THAI Craft to the WORLD อย่างยั่งยืน

“อุตสาหกรรมแฟชั่นยังมีความสำคัญในฐานะที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณี และเครื่องประดับ ค้าปลีก บริการออกแบบ และโฆษณา ซึ่งจุดแข็งที่สำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ได้แก่ ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงทั้งในด้านการควบคุมการผลิตสินค้า และการบริหารจัดการในกระบวนการผลิต” นางสาวณัฏฐิญา กล่าว

นอกจากนี้ อธิบดี กสอ. ได้กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอัญมณีที่สำคัญ วัตถุดิบไทยมีคุณภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าแฟชั่นให้กับแบรนด์ระดับโลก อีกทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีองค์ความรู้ด้านการออกแบบและสร้างแบรนด์มีความสนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นมากขึ้น อีกทั้งแฟชั่นไทยมีเอกลักษณ์และโดดเด่นไม่เหมือนใคร สามารถผสมผสานวัฒนธรรมและเสน่ห์ของความเป็นไทยเข้ากับเทรนด์แฟชั่นสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะผ้าไหมและผ้าฝ้ายของไทย ซึ่งเป็นผ้าที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามและคุณภาพ สามารถผสมผสาน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้

 

สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้จะได้ลงมือปฏิบัติจริงทั้งกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทย จำนวนไม่น้อยกว่า 5 Man-day/กิจการ (ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง) อาทิ Exploration and Local Craft Workshop สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง Hero Brands และ Local Artisans เรียนรู้เทคนิคในการออกแบบสินค้าสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทยด้วยทุนทางวัฒนธรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นยกระดับสินค้าสาขาหัตถอุตสาหกรรมไทยให้มีมูลค่าในระดับสากล กับช่างฝีมือท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงระดับประเทศในแต่ละภูมิภาคของไทย และนับว่าเป็นโอกาสที่ดีและเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับศักยภาพแบรนด์คราฟต์ ให้ไปสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการและเลขานุการร่วมภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และเป็น Focal Point ในสาขาแฟชั่น ซึ่งต้องบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน Soft Power สาขาดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับการที่ภาครัฐจะส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อผลักดัน Soft Power ของประเทศ สนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งอาหารท้องถิ่นไทย ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าทั้งด้านมาตรฐาน และดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก


วันที่ 30 มิถุนายน 2568

 

 
เว็บสำเร็จรูป
×