PTG ทุ่มทุนเมคมันนี่ทุกธุรกิจ

บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี จัดงบลงทุน 4,500 ล้านบาท ขยายสถานีบริการน้ำมัน , LPG และ non-oil โดยปีนี้จะเน้นธุรกิจแก๊สทั้งในกลุ่มยานยนต์-ครัวเรือน ในสัดส่วน 80:20 ซึ่งภายในปี 2567 จะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ให้อยู่เบอร์ 3 ของภาพรวมตลาด LPG และที่สำคัญถือเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่พัฒนาถังแก๊สด้วยวาล์วเช็คล็อคที่ให้ความปลอดภัยต่อผู้ใช้ พร้อมคิวอาร์โค้ดในการติดตาม รวมถึงข้อมูลการใช้ถัง

เป้าหมายการลงทุนในปี 2564 ของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) ยังคงอยู่ที่ 4,000-4,500 ล้านบาท ตามที่นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ให้สัมภาษณ์ โดยงบดังกล่าวใช้สำหรับขยายธุรกิจหลัก ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil) รวมถึงธุรกิจใหม่ ซึ่งคาดว่างบสำหรับการขยายสถานีบริการน้ำมันและแก๊ส LPG อยู่ที่ 3,000-3,500 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ Non-Oil จำนวน 500 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และที่เหลืออีกประมาณ 500 ล้านบาท เป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่

ซีอีโอ PTG กล่าวยืนยันว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นสร้างกำไรที่สม่ำเสมอและยั่งยืน รวมถึงการรักษาส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ผ่านการจำหน่ายน้ำมันในทุกช่องทางของประเทศ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรขั้นต้นจากธุรกิจ Non-Oil เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และมีแผนขยายการให้บริการธุรกิจพลังงานทดแทนอื่นๆ เพื่อตอบรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและนโยบายของประเทศที่สนับสนุนพลังงานทดแทนมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร และสามารถดูแลลูกค้าให้ “อยู่ดี มีสุข” ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของบริษัทฯ ที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าติดตามสำหรับธุรกิจของ PTG นั้นก็คือ แก๊ส LPG ที่ได้นายสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ (ซ้ายสุด) กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด บริษัทลูกในเครือ PTG มาให้ข้อมูลว่า ในปี 2564 จะลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท และตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนถังแก๊สแอลพีจีไว้ถึง 3 แสนใบในทุกขนาด โดยจะเน้นการทำตลาด LPG ในกลุ่มยานยนต์ 80% และด้านครัวเรือนอีก 20% จากนั้นภายในปี 2567 จะเพิ่มสัดส่วนให้ทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ที่ 50% เท่ากัน นอกจากนี้ได้วางเป้าหมายระยะ 5 ปี ไว้ว่า จะต้องเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจ LPG มาอยู่ที่อันดับ 3 หรือประมาณ 16-17% ของภาพรวมตลาด และคาดว่าปีนี้จะมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 5.4% เป็นอันดับ 4 ในตลาด

นายสุวัชชัย ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การที่พีทีจีเน้นมาทำแก๊สแอลพีจีในด้าน household (ภาคครัวเรือน) มากกว่าด้านอุตสาหกรรม เพราะเห็นว่า household มีการใช้แอลพีจีปีละกว่า 2 ล้านตัน แต่ด้านอุตสาหกรรมมีการใช้ที่คงที่และลดลง เป็นผลจากโควิด-19 ขณะที่ household ลดลงเล็กน้อย ซึ่งพีทีจีได้เห็นโอกาสและช่องว่างในจุดนี้ โดยตอนนี้แก๊สแอลพีจีสำหรับยานยนต์มีแนวโน้มดีกว่าธุรกิจน้ำมัน 2-3 เท่า

พีทีจี จะเป็นผู้นำธุรกิจแก๊สแอลพีจีเจ้าแรกที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบถังแก็สที่เก่า และไม่เกิดการพัฒนามาอย่างยาวนาน เพื่อให้ดูใหม่และมีมาตรฐานมากขึ้น เพราะอย่างที่หลายคนทราบ ถังแก๊สทุกใบจะต้องตรวจสอบทุก 5 ปี และมีระบุที่ถังว่าตรวจเช็คครั้งสุดท้ายเมื่อไร นอกจากนี้พีทีจีได้สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยใส่คิวอาร์โค้ดไว้ที่ถังแก๊ส และใช้สมาร์ทโฟนสแกนที่คิวอาร์โค้ด ก็จะพบข้อมูลสำคัญ เช่น ถังแก๊สใบนั้นตรวจเช็คมาเมื่อไร ถูกอัดบรรจุครั้งสุดท้ายเมื่อไร อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการบริการ คือ คิวอาร์โค้ดจะสามารถบอกตำแหน่งสุดท้ายที่ถังไปอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งได้ และเมื่อลูกค้าโทรสั่งแก๊สและบอกเลขสมาชิก ทางพีทีจีจะไปส่งแก๊สให้ตามพิกัดที่มีในคิวอาร์โค้ด

 

อีกจุดหนึ่งที่อยากให้ลูกค้าของ PTG มั่นใจในการใช้ก็คือ วาล์วเช็คล็อค ซึ่งช่วยตรงที่เมื่อผู้ใช้เปิดวาล์วทิ้งไว้ แก๊สจะไม่ออกจนกว่าจะเอาตัวเรกกูเรเตอร์มาเสียบเพิ่มแก๊สถึงจะออก เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย พีทีจีจึงเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยที่นำวาล์วดังกล่าวมาใช้ในถังแก๊สแอลพีจี

สิ่งที่จะเป็นความแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจแก๊สหุงต้มอีกจุดหนึ่งก็คือ จะมีแอปพลิเคชั่นให้ลูกค้าสำหรับสั่งแก๊ส ซึ่งในแอปนั้นจะช่วยสกรีนให้ว่า ในทำเลที่ใกล้บ้านลูกค้ามีร้านแก๊ส PT ไหนบ้างในการรับออเดอร์ และจากนั้นก็จะไปส่งให้ถึงที่บ้าน


สรุปภาพรวมในปีนี้ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี ตั้งเป้าที่จะขยายสาขาการให้บริการทั้งธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน (Non-Oil) รวมเป็น 3,160 สาขา เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 2,850 สถานี โดยคาดว่าจะเพิ่มสถานีบริการน้ำมันจากเดิม 1,888 สาขา เพิ่มเป็น 2,030 สาขา และสถานีบริการแก๊ส LPG เพิ่มจาก 206 สาขา เป็น 260 สาขาภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงการขยายศูนย์บริการรวม (Touchpoint) ซึ่งเป็นธุรกิจ Non-Oil เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านคอฟฟี่เวิลด์ ร้านสะดวกซื้อแมกซ์มาร์ท (Max Mart) รวมถึงศูนย์บริการซ่อมบำรุงรักษรถยนต์ออโต้แบคส์ (Autobacs) และอื่นๆ รวมเป็น 870 สาขา จากปี 2563 ที่มีศูนย์บริการรวม 756 สาขา ซึ่งหลักๆ จะเป็นการขยายสาขาของร้านกาแฟพันธุ์ไทย เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  
เว็บสำเร็จรูป
×