CISSA ปั้นเวลเนสควบรีสอร์ตในภูเก็ต

          แผนธุรกิจ “ซิซซา กรุ๊ป” ปี’66 เพิ่มอีก 4 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 8 พันล้านบาท มีทั้งรีสอร์ตหรู พูลวิลล่า และเมดิคอล เวลเนส ซึ่งถือเป็นศูนย์สุขภาพรายแรกๆ ที่จะดูแลแบบองค์รวม สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวในภูเก็ต เริ่มมีชาวรัสเซียมามากขึ้น ส่วนคนจีนรอลุ้นปลายปีนี้ ขณะที่ตลาดพูลวิลล่า กระแสดี ผู้พัฒนาจาก กทม.และในพื้นที่ ทำขายต่อเนื่อง ในราคาเริ่ม 7 ล้านบาท สุดท้ายฝากถึงรัฐบาลใหม่ เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวมากขึ้นเพื่อให้อสังหาฯ เติบโต 



          นายอรรถนพ พันธุกำเหนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด (CISSA) กล่าวถึง ทิศทางการดำเนินการของ ซิซซา กรุ๊ป ในปี 2566 ว่า จะมีการเปิดตัวทั้งหมด 4 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. นาใต้ เมดิคอล เซ็นเตอร์ แอนด์ รีสอร์ต มูลค่าการลงทุน 3,300 ล้านบาท พัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพและความงาม ควบคู่ไปกับรีสอร์ตหรูระดับ 6 ดาว ปัจจุบันเปิดให้บริการในส่วนของโรงแรมแล้ว ส่วนเมดิคอลฯ จะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 1/2567 

          2. เมดิคอล เวลเนส รีสอร์ต ในพื้นที่ โรงแรม “วินแดม แกรนด์ ในหาน บีช ภูเก็ต” (Wyndham Grand Nai Harn Beach Phuket) โดยเฟสแรกใช้งบลงทุนไป 70 กว่าล้านบาท ใช้พื้นที่ไปประมาณ 500 ตารางเมตร พร้อมเปิดให้บริการในส่วนของ “เพลนารีเวลเนส” (Plenary Wellness) ศูนย์สุขภาพและความงาม เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์แบบ แบบองค์รวม ประกอบด้วย โปรแกรมตรวจสุขภาพเชิงลึก, เวชศาสตร์ชะลอวัย,กายภาพบำบัด และเวชศาสตร์ความงาม ในส่วนเฟส 2 จะเป็น Men’s Health และ Women Health เป็นการดูแลสุขภาพทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั้งหมด และเฟส 3 กำลังศึกษาข้อมูลว่าจะนำบริการรูปแบบไหนเข้ามาใช้บ้าง คาดว่าทั้ง 3 เฟส จะใช้งบลงทุนรวมประมาณ 300 ล้านบาท 

          “เมดิคอล ถือเป็นโปรดักส์ใหม่ในตลาด เวลเนส รีสอร์ต ที่เป็นการให้บริการเรื่องดูแลสุขภาพในโรงแรม ส่วนอีกแบบหนึ่ง คือ การให้บริการเชิงการแพทย์ ที่มีคลินิกเฉพาะทาง โดยสิ่งที่บริษัทฯ ทำจะเป็นการนำ 2 รูปแบบมารวมกันเป็น “เมดิคอล เวลเนส รีสอร์ต” (Medical Wellness Resort) เน้นเวชศาสตร์ป้องกันให้มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงตลอด เราถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่ดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว และมีจุดแข็งในเรื่องบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งปัจจุบันยังถือว่ามีคู่แข่งที่น้อยมาก ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นก็จะมีจุดขายที่แตกต่างกันไป” นายอรรถนพ กล่าว 

  

         3. พูลวิลล่า บริเวณหาดลายัน โดยยังไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ ขณะนี้เรียกว่า “รายัน วิลล่า” โดยเฟส 1 ตั้งอยู่พื้นที่ 16 ไร่ เป็นวิลล่า จำนวน 26 หลัง ราคา 1-2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 35-70 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท และ4. ดิ เอท พูลวิลล่า เฟส 2 บริเวณอ่าวฉลอง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 11 ไร่ เป็นวิลล่า จำนวน 60 หลัง ราคาตั้งแต่ 7-10 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 600-700 ล้านบาท 

         ในส่วนของ “วินแดม แกรนด์ ในหาน บีช ภูเก็ต” (Wyndham Grand Nai Harn Beach Phuket) ช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 - เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการเข้าพักเกิน 90% และช่วงเดือนที่ผ่านมาพฤษภาคม - มิถุนายน 2566 อัตราการเข้าพักลดลงมาอยู่ที่ 60-65% แม้จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างชาติทั้งหมด 

         ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิซซา กรุ๊ป กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ว่า นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมและที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักยังเป็นชาวรัสเซียถึง 80% เนื่องจากหนีภัยสงครามมาหาซื้อบ้านหลังที่สองในจ.ภูเก็ต โดยเฉพาะตลาดพูลวิลล่า ในระดับราคา 6-100 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้า ส่วนช่วงไตรมาส 3/2566 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ตลาดภูเก็ตจะค่อนข้างเงียบเมื่อเทียบกับช่วงไฮซีซั่น จากเดิมที่คาดหวังว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมามากขึ้น แต่กลับไม่เป็นไปตามคาดการณ์  ซึ่งต้องรอดูช่วงไฮซีซั่นในปลายปีนี้อีกครั้งหนึ่ง 

         ส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการในปี 2566 นี้ พบว่า มีการพัฒนาโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะพูลวิลล่ามากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการในท้องถิ่นและจากกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นตลาดแมส ระดับราคา 7-30 ล้านบาท โดยกระจายพัฒนารอบเกาะภูเก็ต อีกทั้งพบว่ามีความต้องการมากขึ้น เพราะซัพพลายพูลวิลล่าในช่วงที่ผ่านมาไม่เพียงพอกับดีมานด์ ทำให้หลังโควิด-19 คลี่คลาย ตลาดพูลวิลล่ามียอดขายที่ดีมาก โดยทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ โซนลากูน่า แถวหาดบางเทา หาดลายัน โซนถัดมาคือ ราไวย์ และในหาน ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมมีการพัฒนาน้อยกว่าเดิม เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ลูกค้าหันมาซื้อบ้านและวิลล่ามากขึ้น

    

         “ช่วงโควิด-19 ราคาที่ดินไม่พุ่งมากนัก โดยปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 20% ซึ่งราคาที่ดินที่สูงสุดปัจจุบันยังอยู่ที่ป่าตองในบางทำเล ราคาสูงถึงประมาณ 200 ล้านบาท/ไร่ ซึ่งภูเก็ตยังมีพื้นที่ให้พัฒนาพอสมควร แต่ด้วยความต้องการส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ผู้ประกอบการจะไม่แข่งขันสูงเหมือนเช่นในกรุงเทพฯ” นายอรรถนพ กล่าว 

          สุดท้ายนายอรรถนพ ได้กล่าวถึงภาพรวมตลาดท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ว่า ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็อยากให้มีการส่งเสริมแคมเปญดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยและภูเก็ตมากขึ้น อีกทั้งควรดูแลเรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในจ.ภูเก็ต ด้วยการเข้าไปลงทุนให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อการท่องเที่ยวดีก็จะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง  

 
เว็บสำเร็จรูป
×