BOI ผ่อนปรนคนไทยแห่ลงทุน

บีโอไอ เผย ตัวเลขขอส่งเสริมปีที่ผ่านมามีมูลค่าแตะ 4.8 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 1,717 โครงการ ซึ่งมีธุรกิจคนไทยและเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นสูงกว่าปี 2562 โดยมีการปรับเปลี่ยนมาตรการบางอย่างให้เกิดการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ลดวงเงินลงทุนเหลือ 5 แสน จาก 1 ล้านบาท ใช้เครื่องจักรเก่าได้ หรือตั้งโรงงานในพื้นที่ SEZ  

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้สรุปภาวะการลงทุนปี 2563 พบว่า มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับปี 2562 มูลค่าการลงทุนก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากัน ถ้าไม่นับรวมโครงการที่มีขนาดใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่อีอีซี ซึ่งยื่นขอรับส่งเสริมเมื่อปี 2562 อย่างไรก็ดี ถึงแม้มูลค่าจะลดลงไปเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเมื่อดูในแง่จำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12 โดยมีจำนวน 1,717 โครงการ


            ประเด็นน่าสนใจสำหรับภาวะการลงทุนปีที่ผ่านมาคือ กิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ พบว่ามีการขอรับส่งเสริมจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 20 มีมูลค่าลงทุน 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผ้า หรือเส้นใยชนิดต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงขึ้นมาก เป็นการเติบโตที่สอดคล้องไปกับมาตรการของบีโอไอที่ส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็วและจำเป็นต้องใช้ในการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 230,740 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.เครื่องใช้ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 50,300 ล้านบาท 2.การเกษตร และแปรรูปอาหาร 41,140 ล้านบาท 3.ยานยนต์ และชิ้นส่วน 37,780 ล้านบาท 4.ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 36,020 ล้านบาท และ 5. เทคโนโลยีชีวภาพ 30,060 ล้านบาท

นอกจากนี้ โครงการที่ขอลงทุนในปี 2563 เป็นกิจการของคนไทยทั้งสิ้น ที่ได้ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีมูลค่าลงทุน 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 และหากจะคิดเป็นสัดส่วนโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวนถึงร้อยละ 42 ของจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมทั้งหมดตลอดปี 2563 ส่วนด้านมูลค่าลงทุนมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก จึงอาจจะกล่าวได้ว่า นักลงทุนไทยและรวมถึง SMEs ไทย คือ อัศวินม้าขาวของระบบเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาก็คงจะได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บีโอไอได้ออกมาตรการพิเศษให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด รวมทั้งให้ครอบคลุมทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาได้พูดถึงผู้ประกอบการไทยกันมาตลอด บีโอไอจึงขอหยิบยกมาตรการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs มาขยายความให้ทราบกันอีกครั้ง

มาตรการส่งเสริม SMEs ของบีโอไอได้ผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการลง เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 5 แสนบาท จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) การอนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้ จากปกติที่กำหนดให้เป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นกิจการที่คนไทยถือหุ้นข้างมากไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน และต้องมีรายได้ของกิจการรวมทั้งที่ได้บีโอไอและไม่ได้บีโอไอไม่เกิน 500 ล้านบาทใน 3 ปีแรก โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในกิจการกลุ่ม A ร้อยละ 200 ของเงินลงทุน ได้รับยกเว้นอากรขาเขาเครื่องจักรและวัตถุดิบ เป็นต้น

  

 

นอกจากนี้ กิจการ SMEs ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก หากเข้าไปลงทุนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม หรือลงทุนในพื้นที่ SEZ (Special Economic Zone)

ดังนั้น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอาจยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่การเร่งสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในไทยอยู่แล้วให้ขยายการลงทุนต่อ น่าจะเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนเช่นบีโอไอ ผ่านมาตรการใหม่ๆ ที่ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

 
เว็บสำเร็จรูป
×